ต้นแบบการพัฒนาอาชีพ สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนได้อย่างยั่งยืน
ภาพ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตามเสด็จพระราชดำเนินพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์จนเติบใหญ่ ทำให้พระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นสภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน จึงทรงทราบปัญหาต่างๆ พร้อมกับทรงซึบซับและเรียนรู้หลักการทรงงานของในหลวง รัชกาลที่ 9 และพระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 และทรงนำมาปรับใช้ในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้อยู่ดีกินดีตลอดมา
กลุ่มส่งเสริมอาชีพประชาชนตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ บ้านนายาว ต.ท่ากระดาน อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา ต้นแบบการพัฒนาอาชีพ สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนได้อย่างยั่งยืน เกิดเป็นต้นแบบของโครงการส่งเสริมอาชีพประชาชนในถิ่นทุรกันดารตามพระราชดำรินี้ จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2538 เนื่องจากได้ทอดพระเนตรความเดือดร้อนของประชาชนจากการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยือนประชาชนในพื้นที่แห่งนี้ โดยพระองค์ได้ทรงรับทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นของตำบลท่ากระดาน ซึ่งในสมัยนั้นยังเป็นพื้นที่ห่างไกล การคมนาคมยากลำบาก และทรงพบว่าราษฎรส่วนใหญ่ยากจน เด็กและเยาวชนขาดโอกาสทางการศึกษา ตลอดจนมีปัญหาในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมเพราะขาดแหล่งน้ำทำการเกษตร
ด้วยน้ำพระราชหฤทัยอันยิ่งใหญ่ที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือประชาชนในถิ่นทุรกันดาร ซึ่งประสบปัญหาความยากจน ขาดบริการด้านสาธารณสุข และขาดโอกาสทางการศึกษา เด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร
นับเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักที่ทรงเห็นความสำคัญ โดยมีพระราชประสงค์ให้เด็กและเยาวชนเหล่านั้น มีร่างกายแข็งแรง ได้รับการศึกษา และสามารถประกอบอาชีพได้ ซึ่งจะส่งผลให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น และการจะพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนได้ จำเป็นต้องช่วยเหลือครอบครัวของเด็กและเยาวชนในชุมชนนั้นด้วย จึงมีพระราชดำริให้ส่งเสริมอาชีพแก่ประชาชนในถิ่นทุรกันดาร ด้วยการดำเนินงาน “การพัฒนากลุ่มอาชีพประชาชนในถิ่นทุรกันดาร” ภายใต้ชื่อ "โครงการส่งเสริมอาชีพประชาชนในถิ่นทุรกันดารตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี" จัดตั้งขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ.2538 ที่หมู่บ้านนายาว ต.ท่ากระดาน อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา เนื่องจากทรงประจักษ์ถึงความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ ต่อมาได้ขยายการจัดตั้งกลุ่มอาชีพไปทั่วประเทศ
กลุ่มสตรีตัดเย็บเสื้อผ้าบ้านนายาว
กลุ่มทำชาสมุนไพร
กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านทุ่งเหียง
กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรนายาวสามัคคี