แนวทางการปฏิบัติงานของสำนักงานสหกรณ์จังหวัดตามโครงสร้างใหม่


มีหน้าที่และความรับผิดชอบ
(ก) ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ กฎหมายว่าด้วยการจัดที่ดินเพื่อการครองชีพและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
(ข) ส่งเสริมและพัฒนาสหกรณ์ทุกประเภท กลุ่มเกษตรกร และกลุ่มลักษณะอื่น
(ค) ส่งเสริม เผยแพร่ และให้ความรู้เกี่ยวกับอุดมการณ์ หลักการและวิธีการสหกรณ์ให้แก่บุคลากรสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร และประชาชนทั่วไป
(ง) ส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจของสหกรณ์ / กลุ่มเกษตรกร และกลุ่มลักษณะอื่น
(จ) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย

ฝ่ายบริหารทั่วไป
มีหน้าที่และความรับผิดชอบเกี่ยวกับการจัดทำและรวบรวมแผนงาน คำขอตั้งงบประมาณ ติดตามเร่งรัดและประเมินผลการปฏิบัติงานตามแผนงานและโครงการต่าง ๆ รวมทั้งรวบรวมสถิติข้อมูลงานด้านสหกรณ์ ปฏิบัติงานด้านการเงิน บัญชี วัสดุ ครุภัณฑ์ งานด้านบริหารงานบุคคล งานติดต่อประสานงาน งานสารบรรณ และงานธุรการทั่วไป ตลอดจนดำเนินงานด้านเผยแพร่
และประชาสัมพันธ์ และงานอื่นที่เกี่ยวข้อง หรือตามที่ได้รับมอบหมาย โดยมีรายละเอียดของงาน
ที่ต้องรับผิดชอบ ดังนี้

ก. ปฏิบัติงานด้านธุรการ จะต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับงานสารบรรณทั่วไป เช่น การรับส่งหนังสือราชการ การควบคุมทะเบียนหนังสือเข้าออกสำนักงานสหกรณ์จังหวัด หนังสือเวียน หนังสือราชการลับ คำสั่ง ประกาศของสำนักงานสหกรณ์จังหวัด กำหนดอายุหนังสือราชการ งานเก็บค้นหาเอกสารต่าง ๆ การควบคุมการส่งเอกสารของทางราชการทางไปรษณีย์ การร่าง-โต้ตอบหนังสือ การกลั่นกรองหนังสือราชการให้ถูกต้องตามระเบียบงานสารบรรณ การบันทึกนำเสนอหนังสือต่อผู้บังคับบัญชา การรวบรวมคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการ อนุกรรมการ คณะทำงานต่าง ๆ ที่สำนักงานสหกรณ์จังหวัดเกี่ยวข้องทั้งหมด จดบันทึกรายงานการประชุมข้าราชการและลูกจ้างของสำนักงานสหกรณ์จังหวัด ควบคุม ตรวจสอบการลงเวลามาปฏิบัติงาน
และรายงานผลตามงวดที่กรมกำหนดให้รายงาน จัดทำทะเบียนคุมวันลากิจ ลาป่วย และลาพักผ่อน การจัดผู้อยู่เวรยามประจำสำนักงาน ติดต่อประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ในจังหวัด ดำเนินการ จัดกิจกรรม 5 ส. ของหน่วยงาน ดำเนินการตรวจสอบนำเสนอขอทำลายเอกสารราชการที่พ้นระยะการเก็บรักษาตามระเบียบพัสดุ

ข. การปฏิบัติงานด้านบุคคล จะต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับ
1. ดูแลการจัดอัตรากำลังตามกรอบโครงสร้างใหม่ และการบริหารงานบุคคลของสำนักงาน
2. จัดเก็บ/บันทึก ประวัติข้าราชการ (ก.พ.7) ตลอดจนลูกจ้างประจำทุกคน
3. จัดทำคำสั่งโยกย้ายข้าราชการภายในจังหวัด หรือปรับเปลี่ยนหน้าที่ในหน่วยส่งเสริมและพัฒนาสหกรณ์ตามความเหมาะสม
4. รวบรวมการจัดทำประเมินผลการปฏิบัติงานข้าราชการ
5. ดำเนินการจัดทำคำสั่งเลื่อนเงินเดือนของข้าราชการ/ลูกจ้างประจำ
6. ดำเนินการสรรหา/คัดเลือกลูกจ้างชั่วคราวของสำนักงาน
7.ดำเนินการตามกระบวนการทางวินัยแก่ข้าราชการ/ลูกจ้างประจำที่กระทำผิดเพื่อให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาลงโทษ
8. รายงานการปรับคุณวุฒิและการฝึกอบรมของข้าราชการทุกคน รายงานเกี่ยวกับการเปลี่ยนชื่อ สกุล การถึงแก่กรรมของข้าราชการและลูกจ้างทุกคนต่อกรมฯ ประสานงานกับส่วนที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการขอรับบำเหน็จ บำนาญ ของข้าราชการหรือลูกจ้างประจำที่เกษียณอายุราชการ ลาออกจากราชการ หรือถึงแก่กรรมในกรณีที่เป็นผู้มีสิทธิ์ได้รับบำเหน็จบำนาญ

ค. การปฏิบัติงานบัญชีและการเงิน จะต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับ
1. ตรวจสอบเอกสารการเบิกเงินราชการ เพื่อนำเสนอผู้บังคับบัญชาอนุมัติ
2. จัดทำฏีกาเพื่อเบิกเงินงบประมาณและเงินนอกงบประมาณจากคลังจังหวัด
3. จัดทำทะเบียนคุมเงินงบประมาณและเงินนอกงบประมาณทุกประเภท
4. จัดทำบัญชีการเงินของสำนักงาน
5. รับผิดชอบการรับ - จ่ายเงินของหน่วยงาน
6. จัดเก็บเอกสารการเงิน สมุดบัญชีเงินฝากธนาคารและสมุดเช็คไว้อย่างปลอดภัย
7. จัดทำรายละเอียดและใบนำส่งเงินแก่คลังจังหวัด
8. นำส่งเงินรายได้แผ่นดินแก่คลังจังหวัด
9. จัดทำรายงานการเงินและการเบิกจ่ายเงินงบประมาณแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ง. การปฏิบัติงานเกี่ยวกับพัสดุ ครุภัณฑ์ จะต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับ
1. ควบคุม จัดทำ ทะเบียนพัสดุ ครุภัณฑ์สำนักงานทุกประเภท
2. ดำเนินการจัดซื้อ - จัดจ้างตามแผนงานที่ได้รับอนุมัติ
3. ควบคุมการเบิกจ่ายพัสดุสำนักงาน
4. ควบคุมยานพาหนะ การใช้รถยนต์ราชการ ตลอดจนการซ่อมบำรุงรักษา
5. จัดทำทะเบียน/ควบคุมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงและหล่อลื่น
6. ตรวจสอบพัสดุครุภัณฑ์คงเหลือประจำปีและรายงานกรมฯ
7. จัดการตัดจำหน่ายครุภัณฑ์เสื่อมชำรุดตามระเบียบพัสดุ

จ. การจัดทำแผนงานและงบประมาณ จะต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับ
1. รวบรวมข้อมูล ประสานงานเพื่อการจัดทำแผนงานและคำของบประมาณประจำปี รวมทั้งการปรับเปลี่ยนแผนงานประจำปีของสำนักงานสหกรณ์จังหวัด
2. จัดทำฐานข้อมูลที่เกี่ยวกับการจัดทำแผนปฏิบัติงานและการจัดสรรงบประมาณ เช่น
ทะเบียนครุภัณฑ์ยานพาหนะ ทะเบียนอุปกรณ์การตลาดและสิ่งก่อสร้าง เป็นต้น
3. พิจารณาเสนอหลักเกณฑ์ในการจัดสรรและบริหารงานงบประมาณ เพื่อให้การบริหารงบประมาณเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีประสิทธิผล
4. วิเคราะห์/จัดสรร แผนปฏิบัติงาน และงบประมาณ เสนอสหกรณ์จังหวัดเพื่อพิจารณาจัดสรรให้หน่วยงานในสังกัด
5. กำกับ และแนะนำการใช้จ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามแผนปฏิบัติงานประจำปี
6. ประสานแผนปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง
7. ปรับปรุงแผนงาน/รายงานขอเงินงบประมาณเพิ่มเติม
8. ประสานแผนการปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ฉ. การติดตามและประเมินผล จะต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับ
1. สร้างระบบติดตามและประเมินผลของสำนักงานสหกรณ์จังหวัดให้สอดคล้องกับระบบการติดตามและประเมินผลของกรมส่งเสริมสหกรณ์
2. ติดตาม เร่งรัด และประเมินผลการปฏิบัติงานตามแผนงานและโครงการต่าง ๆ
3. รวบรวมสถิติข้อมูลด้านสหกรณ์
4. ตรวจสอบ ประเมินผลการดำเนินงานตามแผนงานที่กำหนด
5. สรุปผลนำเสนอสหกรณ์จังหวัดเพื่อพัฒนาปรับปรุง แก้ไข พร้อมกำชับการปฏิบัติงานให้เกิดประสิทธิภาพ
6. จัดทำรายงานผลการปฏิบัติงานความก้าวหน้าผลการปฏิบัติงานโครงการต่าง ๆ แก่กรมฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ช. ดำเนินงานด้านเผยแพร่และประชาสัมพันธ์งานด้านส่งเสริมและพัฒนาสหกรณ์ของสำนักงานสหกรณ์จังหวัด

ซ. ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย

 

 

 

cpd bandcad bandkaset band

ban coopshopthban km cpdco opclick logo

12