หลักเกณฑ์ชี้วัดมาตรฐานสหกรณ์
กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ออกประกาศ เรื่อง กำหนดระดับมาตรฐานสหกรณ์ขึ้นถือใช้มาระยะเวลาหนึ่งแล้ว นั้น เพื่อให้ตัวชี้วัดระดับมาตรฐานสหกรณ์สอดคล้องกับข้อเท็จจริงในการดำเนินการของสหกรณ์ อันส่งผลให้สหกรณ์และบรรดาสมาชิกได้รับประโยชน์มากยิ่งขึ้น กรมฯ จึงได้ปรับปรุงตัวชี้วัดระดับมาตรฐานขึ้นใหม่ ประกาศกรมส่งเสริมสหกรณ์ เรื่องกำหนดระดับมาตรฐานสหกรณ์ ฉบับลงวันที่ 23 มิถุนายน 2553 ประกาศดังกล่าวมีสาระสำคัญ ดังนี้
1. กำหนดให้มีคณะกรรมการพิจารณาผลการจัดมาตรฐานสหกรณ์ (ระดับกรม) ประกอบด้วย รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ที่กำกับดูแลสำนักจัดตั้งและส่งเสริมสหกรณ์ เป็นประธาน ผู้อำนวยการสำนักทุกสำนัก หัวหน้าผู้เชี่ยวชาญ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรมส่งเสริมสหกรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์สารสนเทศ ร่วมเป็นคณะกรรมการ โดยมีผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยและพัฒนาสหกรณ์ เป็นกรรมการและเลขานุการ และนักวิชาการสหกรณ์ชำนาญการพิเศษ กลุ่มวิจัยและพัฒนาสหกรณ์ เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ มีหน้าที่กลั่นกรองผลการจัดมาตรฐานสหกรณ์
2. ได้กำหนดระดับมาตรฐานสหกรณ์ ออกเป็นสี่ระดับ
(1) ระดับมาตรฐานดีเลิศ
(2) ระดับมาตรฐานดีมาก
(3) ระดับมาตรฐานดี
(4) ระดับไม่ผ่านมาตรฐาน
3. กำหนดตัวชี้วัดระดับมาตรฐานสหกรณ์ไว้เช่นเดิม (จำนวน 7 ข้อ) ประกอบด้วย
(1) ผลการดำเนินงานในรอบสองปีบัญชีย้อนหลัง สหกรณ์มีผลการดำเนินงานไม่ขาดทุนเว้นแต่ปีใดมีอุบัติภัยหรือภัยธรรมชาติจนเกิดความเสียหายต่อสมาชิกและสหกรณ์โดยรวมให้ตัดปีนั้นออก
(2) ในรอบสองปีย้อนหลังต้องไม่มีการกระทำอันถือได้ว่าทุจริตต่อสหกรณ์
(3) ผลการดำเนินงานในรอบปีบัญชีสุดท้าย สหกรณ์ต้องจัดทำงบการเงินแล้วเสร็จและส่งให้ผู้สอบบัญชีตรวจสอบแล้วนำเสนอเพื่ออนุมัติในที่ประชุมใหญ่ของสหกรณ์ภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวัน นับแต่วันสิ้นปีทางบัญชี
(4) ผลการดำเนินงานในรอบปีสุดท้าย สหกรณ์ต้องมีสมาชิกไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ของสมาชิกทั้งหมด มาทำธุรกิจกับสหกรณ์
(5) ต้องจัดจ้างเจ้าหน้าที่สหกรณ์ปฏิบัติงานประจำ รับผิดชอบดำเนินการและธุรกิจของสหกรณ์หากไม่มีการจัดจ้าง ต้องมีกรรมการดำเนินการหรือสมาชิกที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ประจำ
(6) ผลการดำเนินงานในรอบสองปีย้อนหลังสหกรณ์ต้องมีการจัดสรรกำไรสุทธิและจ่ายเงินทุนสวัสดิการสมาชิกหรือทุนสาธารณะประโยชน์อย่างน้อยหนึ่งครั้ง
(7) ผลการดำเนินงานในรอบปีบัญชีสุดท้าย สหกรณ์ต้องไม่กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย ระเบียบ หรือคำสั่งนายทะเบียนสหกรณ์
4. กรมฯ ได้มีการปรับเปลี่ยนวิธีการจัดระดับมาตรฐานจากเดิมให้ใช้ตัวชี้วัดผลการดำเนินงานของสหกรณ์ จำนวน 7 ข้อ สหกรณ์ผ่านเกณฑ์ตัวชี้วัดทั้ง 7 ข้อ ถือว่าผ่านเกณฑ์มาตรฐานสหกรณ์ แต่ถ้าสหกรณ์ตกข้อเกณฑ์ชี้วัดใดข้อหนึ่ง ถือว่าสหกรณ์นั้นไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน เปลี่ยนการจัดระดับมาตรฐานโดยใช้หลักเกณฑ์ตัวชี้วัด จำนวน 7 ข้อ เหมือนเดิม แต่ได้เพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีการประเมินการจัดมาตรฐานสหกรณ์ โดยแบ่งวิธีการประเมินออกเป็น 2 ส่วน คือ วัดผลการดำเนินงานของสหกรณ์ และวัดกระบวนการบริหารจัดการภายในสหกรณ์ มีหลักเกณฑ์ประเมินรวมทั้งสิ้น 137 ข้อ ซึ่งในแต่ละข้อมีคะแนนการประเมินที่ต่างกัน การประเมินผลการจัดมาตรฐานสหกรณ์ในแต่ละระดับ ตามข้อ 2 คณะกรรมการพิจารณาผลการจัดมาตรฐานสหกรณ์ จะผู้กำหนดช่วงคะแนนในแต่ละระดับ
5. กรมส่งเสริมสหกรณ์ออกประกาศผลการจัดมาตรฐาน ตามระยะเวลาที่เหมาะสม